สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน ๑. สภาพทั่วไป ๑.๑ ที่ตั้ง องค์การบริหารส่วนตำบลอิปุ่มตั้งอยู่ที่ ๙๒ หมู่ ๒ บ้านวังบอน ตำบลอิปุ่ม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ผ่านระหว่าง กม.๓ ถนนลาดยางสายบ้านตาดเสี้ยว – ถ้ำพระ ห่างจากที่ทำการอำเภอด่านซ้าย ประมาณ ๔๒ กิโลเมตร โดยมีพื้นที่ติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลนาซำ ตำบลศิลา อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลวังยาว อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลโป่ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ทิศเหนือ ติดต่อกับพิกัด คิววี ๓๗๕๐๘๕ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือถึงห้วยม่วงที่พิกัด คิววี ๓๙๘๑๐๐ แล้วลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามลำห้วยม่วง จนถึงบริเวณพิกัด คิววี ๔๓๘๐๖๘ บริเวณบ้านป่าม่วง ตำบลอิปุ่ม ติดกับบ้านนากวย ตำบลวังยาว ทิศตะวันออก เริ่มที่บ้านป่าม่วง ตำบลอิปุ่ม ที่พิกัด คิววี ๔๓๘๐๖๘ ลงมาทางใต้ประมาณ ๒ กม. ผ่านโคก ภูขน ลงมาตัดกับลำห้วยหนองแห้ว มาบรรจบลำสักน้อยที่พิกัด คิววี ๔๓๒๐๓๓ ระยะทาง ประมาณ ๒ กม. จากนั้นลงมาทางทิศใต้ตามแนวสันเขาจนลงมาตัดห้วยน้ำลึกที่พิกัด คิววี ๔๒๘๐๐๒ ลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตัดกับห้วยสวนกล้วยใหญ่ บริเวณพิกัด คิวยู ๔๕๓๙๘๓ ระยะทางประมาณ ๓ กม. ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตัดกับลำน้ำห้วยแขบริเวณ พิกัด คิวยู ๔๖๔๙๖๘ ตามลำน้ำห้วยแขไปสิ้นสุดที่พิกัด คิวยู ๔๗๑๙๕๙ ระหว่างบ้านกกสะตี ตำบลวังยาว กับบ้านแก่วตาว ตำบลอิปุ่ม ทิศใต้ จากพิกัด คิวยู ๔๗๑๙๕๙ ลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตามสันเขาภูเชียงโบที่พิกัด คิวยู ๔๒๑๙๑๓ ระยะทางประมาณ ๖ กม. ขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงพิกัด คิวยู ๓๙๙๙๓๐ ระยะทางประมาณ ๒ กม. จากนั้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ถึงบริเวณโคกซำซางที่พิกัด คิวยู ๓๖๙๘๙๐ ระยะทาง ๓ กม. ลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บริเวณเนินเขาสามสี่หมอน แก้ว พิกัด คิวยู ๓๗๖๘๘๓ ระยะทาง ๒ กม. ลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตัดห้วยไผ่ใหญ่ ที่พิกัด คิวยู ๓๖๘๘๗๓ จากนั้นขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือก่อนถึงลำห้วยอิปุ่ม บ้านด่าน ดู่ ตำบลโป่ง ที่พิกัด คิวยู ๓๓๐๘๗๗ ทิศตะวันตก จากบริเวณพิกัด คิวยู ๓๓๐๘๗๗ บ้านด่านดู่ ตำบลโป่ง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๘ กม. ตามไหล่เขาผาผึ้ง จนถึงบ้านตาดเสี้ยว ตำบลอิปุ่ม บริเวณพิกัด คิวยู ๓๖๕๙๕๒ แล้วขึ้นไปตามสันเขากะรอไปตัดกับถนนสายบ้านทับกี่ที่พิกัด คิววี ๓๕๘๐๐๘ ๔ แล้วขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ ๕ กม. ถึงบริเวณ สันเขาโคกหมาหอนจนถึงจุดสิ้นสุดที่ พิกัด คิววี ๓๗๕๐๘๕

๑.๒ เนื้อที่ เขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลอิปุ่ม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เนื้อที่ โดยประมาณ ๑๒๖ ตารางกิโลเมตร หรือ ๗๘,๗๕๐ ไร่ ๑.๓ ภูมิประเทศ สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันมีความลาดชัน ประมาณร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่ ส่วนที่เหลือเป็น ที่ราบเชิงเขาและแหล่งน้ำ ตั้งอยู่ในเขตเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม สภาพดินเป็นดินเหนียวความอุดมสมบูรณ์ของดินมี ต่ำ มีการไหลบ่าของน้ำอย่างรวดเร็วและแรง มีลำห้วยและคลองขนาดเล็ก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๕๐- ๔๕๐ เมตร

ที่มาของชื่อตำบลและหมู่บ้านดังนี้

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ความหมายของชื่อตำบล

           อิปุ่ม เป็นชื่อของลูกของสัตว์จำพวกกบเขียดชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายลูกอ๊อดแต่ตัวโตกว่าขนาดเท่ากับหัวแม่มือ ร้องดังก๊าบๆ คล้ายเป็ด สัตว์ชนิดนี้อาศัยอยู่ตามลำห้วยบางทีอยู่ตามต้นไม้ ใช้รับประทานได้

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อตำบล

          ได้รับการบอกเล่าจากราษฎรบ้านวังบอนว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้วได้มีลำห้วยสายหนึ่งเรียกว่าลำห้วยอิปุ่ม ไหลมาบรรจบกับห้วยน้ำย่า ราษฎรก็เลยตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ และเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านห้วยอิปุ่ม ละภายหลังก็รียกให้สั้นเข้าว่า บ้านอิปุ่ม ต่อมาราษฎรบ้านอิปุ่มก็ได้ย้ายบ้านเรือนใหม่ มาตั้งอยู่ที่ห้วยบังบอนจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยความเคยอาศัยอยู่หมู่บ้านอิปุ่มก็เลยนำเอาชื่อหมู่บ้านอิปุ่ม ดั้งเดิมตั้งชื่อเป็นชื่อตำบลและเรียกมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า ตำบลอิปุ่ม

 

บ้านตาดเสี้ยว  หมู่ที่ 1

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ความหมายของชื่อหมู่บ้าน

              ตาด  หมายถึง ที่ที่มีน้ำตก

              เสี้ยว  เป็นชื่อของพรรณไม้ชนิดหนึ่งซึ่งทางภาคกลาง เรียกว่า ชงโค เป็นไม้เนื้ออ่อนจัดเป็นไม้ประดับยอดอ่อนใช้รับประทานได้ ประกอบอาหารได้อร่อยดี

              ตาดเสี้ยวได้ย้ายมาจากทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านประมาณ 1 กม. คนที่นำมาอยู่เป็นคนแรก คือ นายทองใบ  ตันตุลา มีนายเลี่ยน และนายก่อง ตันตุลาเป็นลูกชายของนายทองใบติดตามมาด้วย บ้านตาดเสี้ยวตั้งขึ้นโดยการมาอยู่รวมกันของชาวบ้านกกกะบก บ้านหัวฝาย บ้านกกแขน ได้รวมกันและตั้งชื่อว่าบ้านตาดเสี้ยว

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

               เมื่อก่อนมีตาดและวังน้ำที่มีต้นเสี้ยวอยู่ล้อมรอบเลยตั้งชื่อว่าบ้านตาดเสี้ยว (น้ำตาดนี้ไหลเชี่ยวและแรงมาก) ตาดนี้อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร

               ลักษณะที่ตั้งของหมู่บ้าน เป็นเนินเขาล้อมรอบไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่สลับกัน

สถานที่ท่องเที่ยว

                น้ำตกตาดหมอก เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามเป็นหน้าผาหินสูงประมาณ 10 เมตร และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์หลายชนิด เป็นน้ำตกที่มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่นใบไม้กลายเป็นหิน

                น้ำตกขอนสัก สูงประมาณ 7 เมตร เป็นหน้าผาหินอยู่เหนือห้วยหมูขึ้นไป ถัดจากตาดหมอก 2 กิโลเมตร

                น้ำตกตาดงิ้ว ตาดงิ้วเป็นน้ำตกขนาดกลางมีธรรมชาติที่สวยงาม ถัดจากตาดหมอก 2 กิโลเมตรทางแยกซ้ายมือมีความสูงประมาณ 20 เมตร ด้านล่างเป็นโขดหินใหญ่

                น้ำตกถ้ำรอด ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 4 กิโลเมตร สูงประมาณ 20 เมตร ลักษณะถ้ำรอด มีถ้ำติดต่อกันสองถ้ำทางเข้าต้องลอดเข้าประมาณ 8 เมตร ความกว้างของปากถ้ำประมาณ 1 เมตร

                จุดชมวิว จุดชมวิวนี้สามารถมองเห็นได้หลายหมู่บ้าน มีจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามมาก

 

บ้านวังบอน  หมู่ที่ 2

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ความหมายของชื่อหมู่บ้าน

                วัง  คือ  ห้วยน้ำลึก

                บอน เป็นชื่อของต้นพืชชนิดหนึ่ง (ต้นบอน) มีหัวคล้ายหัวเผือกชอบขึ้นอยู่ตามริมห้วย หรือที่ที่มีความชื้นคนส่วนมากนิยมตัดก้านใบมาต้มเพื่อผสมเป็นอาหารหมู

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                บ้านวังบอนก่อตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2455 อพยพมาจากบ้านปากห้วยอิปุ่มห่างจากบ้านวังบอนไปทางทิศเหนือ 500 เมตร เนื่องจากเกิดโรคระบาดมีคนแก่ตายพร้อมกันหลายคนจึงมีการอพยพมา คำว่า “วังบอน” ก็คือ วังน้ำซึ่งมีต้นบอนขึ้นอยู่เต็มทั้งสองฝั่ง จึงเรียกว่า วังบอน บุคคลที่พาชาวบ้านอพยพมา ชื่อนายพรมมา  กันยาประสิทธิ์ (หมื่นอิปุ่ม) พร้อมลูกเมีย รวมจำนวน 6 ครัวเรือน ต่อมาก็มีคนอพยพมาจากบ้านตูมกา 2 ครัวเรือน บ้านหนองสะค้ำอีก 2 ครัวเรือน รวมจำนวน 10 ครัวเรือน มีประชากร 62 คน โดยมีหมื่นอิปุ่ม นายพรมมา  กันยาประสิทธิ์เป็นผู้ปกครองกำนันในสมัย ต่อมาหมื่นอิปุ่มกลายเป็นคนวิกลจริตทางราชการจึงได้แต่งตั้งให้ นายกอง  กันยาประสิทธิ์ ผู้ใหญ่กองหรือพ่อเต็มเป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองแทน และตำแหน่งกำนันก็ตกเป็นของพ่อเต็ม พ.ศ. 2464ก็ได้ออกสำรวจหมู่บ้านต่างๆ กำหนดเป็นหมู่ที่ 1 บ้านตาดเสี้ยว หมู่ที่ 2 บ้านวังบอน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

 

บ้านผักเน่า  หมู่ที่ 3

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ความหมายของชื่อหมู่บ้าน

                ตั้งชื่อตามพืชผักชนิดหนึ่ง ซึ่งภาษาไทยเรียกผักชะอม เป็นพวกผักคล้ายผักกระถิน แต่ใบเล็กกว่า ลำต้นเป็นหนาม ประโยชน์ใช้รับประทานเป็นอาหารได้

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                จากคำบอกเล่าของท่านผู้สูงอายุในหมู่บ้านผักเน่าได้เริ่มก่อตั้งขึ้นมาได้ประมาณ 150 ปี ตั้งขึ้นพร้อมกับ บ้านอิปุ่ม (ตอนนี้เป็นบ้านร้างไปแล้วตรงสะพานคอนกรีตโรงเรียนเก่าอิปุ่ม) นายแฮ ไม่ทราบนามสกุล เป็น “หมื่น” ซึ่งเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ต่อมานายเถิง หรือพ่อตาเงินไม่ทราบนามสกุลย้ายมาจากบ้านโป่งสามขา  อำเภอหล่มเก่า  จังหวัดเพชรบูรณ์ มาดำรงตำแหน่งหมื่นต่อจากนายแฮ ตอนนั้นมีบ้าน 3 หลังคาเรือน ต่อจากนั้นก็ได้ราษฎรย้ายมาจากบ้านห้วยน้ำแดง บ้านห้วยห้างและบ้านผึ้ง ปัจจุบันบ้านดังกล่าวเป็นบ้าน หมู่บ้านร้างไปแล้ว รวมทั้งที่ย้ายเข้ามามีอยู่ 7 หลังคาเรือน ต่อมาปี พ.ศ. 2485 ราษฎรทั้งหมู่บ้านเกิดโรคระบาดล้มป่วยเป็นไข้ฝีดาษราษฎรเสียชีวิตครั้งนั้นจำนวน 17 ราย ที่รอดชีวิตจากโรคร้ายก็ได้รวมพลังพยายามฟื้นฟูหมู่บ้าน โดยไม่ได้ปล่อยให้เป็นบ้านร้าง เหมือนหมู่บ้านใกล้เคียง อาชีพของประชาชนสมัยนั้น ก็ทำเกษตร เช่น ทำไร่ข้าว ปลูกพริก ปลูกฝ้าย ยาสูบ และปลูกพืชผักเถาวัลย์ต่างๆไว้เพื่อบริโภคและอุปโภคเองเท่านั้น ถ้ามีมากก็แบ่งปันแจกจ่ายแก่ญาติและเพื่อนบ้านหรือมีการแลกเปลี่ยนสินค้าการเกษตรด้วยกันที่ได้ตั้งชื่อว่าบ้านผักเน่านั้น เพราะว่ามีผักชนิดหนึ่งเกิดขึ้นอยู่ตรงที่บริเวณก่อตั้งบ้านจำนวนมาก ผักชนิดนั้นชาวบ้านเรียกว่าผักเน่า หรือผักชะอมจนถึงปัจจุบันนี้ ผักดังกล่าวก็ยังมีอยู่คู่บ้านผักเน่าตลอดมา บ้านผักเน่าตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมามี “หมื่น” หรือผู้นำหมู่บ้าน

 

บ้านหินแลบ  หมู่ที่ 4

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ความหมายของชื่อหมู่บ้าน

                 ที่เรียกชื่อว่า บ้านหินแลบ นั้น ก็เพราะสภาพภูมิประเทศของหมู่บ้านลำห้วยน้ำย่าไหลผ่านและทางทิศตะวันออกมีแอ่งน้ำที่มีหินสลับซับซ้อนกันเป็นตับๆ ภาษาชาวบ้านจึงเรียกว่า เป็นแลบๆอยู่ชาวบ้านจึงเอาสัญลักษณ์วังน้ำหรือแอ่งน้ำวังหินแลบ เป็นชื่อหมู่บ้านหินแลบมาจนทุกวันนี้

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                สร้างหมู่บ้านขึ้น พ.ศ. 2515 ซึ่งชื่อหมู่บ้านหินแลบคนสมัยก่อนตั้งไว้แล้ว เริ่มแรกย้ายมาอยู่ 14 หลังคา ได้แก่ 1. นางทองมา  2. นายเตือง  3. นายแดง  4. นายเฮื้อง  5. นายสาย  6. นางผอง  7. นายหมาน  8. นายโสม  9. นายเซียน  10. นายเปลี่ยน  11. นายสาร  กันยาประสิทธิ์  12. นายตาล  13. นายมารถ  14. นายเอือมโดยทั้งหมดเป็นญาติพี่น้องกันหนอ และนายสาร  กันยาประสิทธิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านหินแลบคนแรก

สถานที่ท่องเที่ยว

  1. ตาดค้อง ระยะทางห่างจากหมู่บ้าน 1-2 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกลักษณะเป็นหน้าผาก้นแอ่งน้ำเป็นโขดหินใหญ่/เล็ก สลับกันสูง 12 เมตร กว้าง 3-4 เมตร
  2. หินหุบลม (หินรูปโลง) ระยะทางห่างจากหมู่บ้าน 1.5 กิโลเมตร ทางทิศเหนือ ลักษณะหินคล้ายรูปโลงศพ เป็นชั้น 2 ชั้น ชั้นที่ 1 สูง 3 เมตร ชั้นที่ 2 สูง 7 เมตร กว้าง 2-3 เมตร
  3. ตาดใหญ่ ระยะทางห่างจากหมู่บ้าน 1 กิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือ ลักษณะของตาดเป็นชั้น 3 ชั้น สูง 20 เมตร เป็นหินสลับซ้อนกันด้านล่างเป็นแอ่งน้ำ

 

บ้านป่าม่วง  หมู่ที่ 5

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ความหมายของชื่อหมู่บ้าน

                 ตั้งตามชื่อของพรรณไม้คือ มะม่วง สันนิษฐานว่าในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านนั้นคงมีต้นมะม่วงป่าเกิดขึ้นมากจึงได้เรียกชื่อตามลักษณะเด่นดังกล่าวคือ ป่าม่วง

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                 ในปี พ.ศ. 2484 ได้มีสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นมีพวกแอบอ้างว่าเป็นทหารญี่ปุ่นออกปล้นสะดมบ้านเรือน ชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว อพยพถิ่นฐานมาอยู่รวมกันโดยมีนายพิลา  จันทร์สีดา กับญาติพี่น้องรวม 5 ครัวเรือนจากบ้านซำผักคาวซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นบ้านร้างยังคงใช้พื้นที่ทำไร่ทำนา และบ้านนาซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านมาอยู่ในพื้นที่มีต้นมะม่วงป่าขนาดใหญ่ ประมาณ 2 เมตร ซึ่งมีประมาณ 10 กว่าต้นเลยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านป่าม่วง มีแม่น้ำไหลผ่านหมู่บ้าน ชื่อว่าแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นต้นน้ำป่าสักโดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกในปี พ.ศ. 2489 คือ นายวุ่น  วังคีรี

สถานที่ท่องเที่ยว

                 น้ำตกป่าซาง ซึ่งเป็นตาดน้ำตก 3 ตาด คือ

  1. ตาดปลาขาว อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร โดยใช้ทางเดินเท้าเข้าไปมีลักษณะหน้าผาสูง 12-15 เมตร ด้านล่างเป็นวังน้ำใหญ่มีโขดหินใหญ่และเล็กสลับกันกว้าง 6-7 เมตร
  2. ตาดขอนแก่น อยู่ถัดจากตากป่าขาวไปทางทิศเหนือประมาณ 800 เมตรลักษณะเป็นตาดหน้าผาหินสูง 12-15 เมตร เป็นวังน้ำใหญ่ มีโขดหินน้อยใหญ่สลับกันกว้าง 6-7 เมตร
  3. ตากเยี่ยว อยู่ถัดจากตาดขอนแก่นขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 300 -400 เมตร ลักษณะเป็นหน้าผาสูงประมาณ 30 เมตร ด้านล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ และมีดขดหินใหญ่และเล็กสลับกัน

 

บ้านห้วยลาด  หมู่ที่ 6

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ความหมายของชื่อหมู่บ้าน

                 ห้วย  หมายถึง ลำน้ำไหลจากภูเขา

                 ลาด  หมายถึง เทต่ำเรื่อยไป ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เป็นลักษณะของพื้นที่ของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเนินเขาดังนั้นน้ำในลำห้วยจึงเทลาดลงมาตามพื้นที่ลาดชันนั้น

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                 เมื่ออดีตพ่อโช้นออน  พ่อไสย  พ่อหม่อน  เชียงจันที แม่นางเมี่ยง ซึ่งทั้งหมดเป็นญาติกัน ได้ย้ายถิ่นฐานที่ทำกินมาจากบ้าน “เก่าไข่หนุ่น”  อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านประมาณ 800 เมตร (ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของหมู่บ้าน เรียกว่า ตาดไข่หนุ่น) ต่อมามีครอบครัวของนายจิน  สุภาษิ ย้ายถิ่นฐานที่ทำกินมาจากบ้าน “ห้วยสามคบ” ต่อมาก็ได้มีชาวบ้านจากบ้าน กกแคน บ้านเก่าห้วยฟานเข้ามาร่วมอยู่อาศัยอีก 2 ครัวเรือนและได้อยู่ขยายที่ทำกินมาจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน การตั้งชื่อของหมู่บ้าน เนื่องจากลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน มีหินที่ลาดเอียงตามลำน้ำ และเป็นต้นน้ำป่าสัก จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านห้วยลาด” โดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายสีดา  ไม่ทราบนามสกุล

แหล่งท่องเที่ยว

              ตาดไข่หนุ่น อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านประมาณ 800 เมตร ลักษณะเป็นโขดหิน สูงประมาณ 5 เมตร เป็นชั้นหิน 4 ชั้น ด้านล่างของตาดเป็นแอ่งน้ำ ลำน้ำมีโขดหินใหญ่ และหินเล็กสลับกันไป การเดินทางไปตาดไข่หนุ่น ต้องเดินทางเท้าเท่านั้น

              ตาดใส่กลอย อยู่ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร จะมีแยกทางด้านขวาก่อนถึงตาตไข่หนุ่นเดินไปอีกประมาณ 200 เมตร ลักษณะของตาดใส่กลอยเป็นน้ำตกชั้นเล็กๆ ชั้นละประมาณ 2-3 เมตร

 

บ้านถ้ำพระ  หมู่ที่ 7

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ความหมายของชื่อหมู่บ้าน

                ถ้ำ  คือ ลักษณะที่หินเว้าแหว่ง

                พระ  คือ  พระที่ทำด้วยไม้นำมาแกะสลักให้มีรูปร่างเป็นพระ องค์ขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                ประมาณ 80 ปีที่ผ่านมามีบ้านกกมอนแก้วอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านถ้ำพระในปัจจุบันหมู่บ้านกกมอนแก้วเป็นหมู่บ้านที่มีขนากใหญ่พอสมควร เป็นกลุ่มหมู่บ้านที่ทำการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพในสมัยนั้นต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ทั้งหมู่บ้านรวมทั้งวัดก็ถูกไฟไหม้ด้วยเช่นกันเหลือเพียงพระพุทธรูปเพียง 20 องค์ ซึ่งชาวบ้านกกมอนแก้วในครั้งนั้นได้พากันอพยพแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในหลายๆที่โดยบางส่วนย้ายไปที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ และอีกประมาณ 30 หลังคาเรือนได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และอีกประมาณ 5 ครอบครัวนำโดยปู่อ่วม บางส่วนย้ายไปอยู่ที่บ้านแก่วตาว บ้านวังบอน บ้านป่าสะแข ส่วนบ้านถ้ำพระนำโดยสามพี่น้อง คือ นายสงค์  พิมพ์เสนา  นายสาน  พิมพ์เสนาและนายโสภา  พิมพ์เสนา ได้พาลูกหลานอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านถ้ำพระและได้นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ที่ถ้ำ (มีลักษณะหินยื่นออกมาคล้ายถ้ำ) จำนวน 20 องค์ เลยเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านถ้ำพระ” การย้ายเข้ามาซึ่งนำโดยสามพี่น้องในครั้งนั้นได้มีการสร้างบ้านเรือนขึ้นและการทำการเกษตรโดยการทำไร่ข้าว ปลูกพริก ปลูกยาสูบ และปลูกฝ้ายเพื่อใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม สมัยนั้นพื้นที่ของหมู่บ้านยังมีป่าที่อุดมสมบูรณ์มีต้นไม้ปกคลุมหนาทึบภายในมีสัตว์ป่านานาชนิดทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำและอาศัยการล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารในการยังชีพ

 

บ้านวังเป่ง  หมู่ที่ 8

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                เมื่อก่อนชาวบ้านได้อาสัยอยู่ที่วังเปล่ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร (ปัจจุบันเป็นตาดวังเปล่ง) มีผู้อยู่อาศัย 10 หลังคาเรือน พออยู่มาได้ประมาณ 10 ปี ต่อมาก็ได้เกิดโรคระบาด คือโรคฝีดาษ มีคนในหมู่บ้านล้มตาย เป็นเด็ก 2 คน ต่อมานายหมื่นและนายถึงได้ชวนคนในหมู่บ้านย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ เนื่องจากทางเข้าออกและที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่ในที่ไม่เหมาะสม จึงได้พากันอพยพมาอยู่ที่วังหมื่นสี โดยมีนายส่วนไม่ทราบนามสกุล เป็นผู้ปกครองหมู่บ้านอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านและเข้ามาอยู่ที่วังเปล่งซึ่งเป็นที่อาศัยในปัจจุบัน การตั้งชื่อบ้านวังเปล่งตั้งจากวังตาดเปล่ง ซึ่งชาวบ้านไปจับปลาหากินทุกเช้าเย็นได้มีการเป่งน้ำออกจากวังน้ำ (เป่ง หมายถึง ปล่อย) โดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรก ชื่อว่า นายสอน ไม่ทราบนามสกุล เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

แหล่งท่องเที่ยว

               1. ตาดหมอกเล็ก อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านประมาณ 1.5 กิโลเมตร ลักษณะเป็นตาดสองชั้น ชั้นที่ 1 สูง 10 เมตร ชั้นที่สอง สูง 12-15 เมตร

                2. ตาดหมอกใหญ่ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตรลักษณะเป็นตาดหนึ่งชั้นสูง 15 เมตร เป็นหน้าผาหินด้านล่างเป็นแอ่งน้ำมีโขดหินน้อยใหญ่สลับกัน

 

บ้านทับกี่  หมู่ที่ 9

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                บ้านทับกี่มาตั้งแรกๆมีอยู่ 9 หลังคาเรือน บางส่วนได้ย้ายไปอยู่บ้านผักเน่าและได้อยู่สักระยะชาวบ้านก็ได้ย้ายกลับคืนมาอยู่ที่บ้านทับกี่ตามเดิมผู้ใหญ่บ้านคนแรกได้แก่นายเขียน  กันยาประสิทธิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นและได้เกษียณอายุในปี พ.ศ. 2530 เลยตั้งนายทอง  คำบุดษิ  เป็นผู้ใหญ่บ้านทับกี่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2530 และนายทอง  คำบุดษิได้รับแต่งตั้งให้เป็นกำนันตำบลในอีกสิบหกปีต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบันบ้านทับกี่มีลำห้วยสาธารณะผ่านหมู่บ้านชื่อห้วยทับกี่ ลำห้วยนี้มีน้ำเฉพาะหน้าฝนเท่านั้นหน้าแล้งไม่มีน้ำเลยแม้แต่น้อย เมื่อ 60 ปีก่อนอุดมสมบูรณ์ไปด้วย ปู ปลา มากมาย และเมื่อมาอยู่คนในหมู่บ้านก็ไปเจอก้อนดินเป็นเหมือนกี่ แล้วต่อมาก็เป็นที่ตั้งชื่อของหมู่บ้านทับกี่ มาจนทุกวันนี้

 

บ้านป่าสะแข  หมู่ที่ 10

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ความหมายของชื่อหมู่บ้าน

                 สะแข  เป็นชื่อของพรรณไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดเป็นไม้ยืนต้น มีลำต้นสีขาว และใบเล็กๆเป็นไม้เนื้ออ่อนและต้นใหญ่มาก ไม้สะแขดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมากในบริเวณ

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                หมู่บ้านป่าสะแข แยกออกมาจากบ้านถ้ำพระเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2510 ได้ตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านป่าสะแข เริ่มแรกมาอยู่ด้วยกันประมาณ 5 หลังคาเรือนทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน คนแรกที่นำมาอยู่คือ นายขันธ์  กันยาประสิทธิ์  นายแสง  นายเราะ

แหล่งธรรมชาติที่สวยงาม

                บ้านป่าสะแขมีแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม คือ ตาดห้วยกกกอก ตาดห้วยกกกอกนี้มีลักษณะเป็นลำห้วยเล็กมีโคตรหินเยอะเป็นที่หากินของชาวบ้าน เส้นทางเมื่อก่อนต้องเดินด้วยทางลำห้วยไม่มีถนนหนทางการไปมาหากันลำบากมาก

 

บ้านแก่วตาว  หมู่ที่ 11

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ความหมายของชื่อหมู่บ้าน

                 แก่ว  หมายถึง  เนินเขาเตี้ยๆหรือเรียกอีกอย่างว่าภูดิน ไม่มีก้อนหินและป่าไม้รกชัฏ ป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าไผ่และหญ้าคา  ตาว หมายถึง ต้นไม้ชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายต้นมะพร้าว ชาวบ้านเรียกว่า ตาวตาด ซึ่งยอดของตาวใช้กินเป็นอาหารได้ โดยทำเป็นอาหารคล้ายหน่อไม้ กล่าวคือใช้ นึ่ง แกงใส่ปลาย่างปลาสด หรือรับประทานยอดดิบๆก็ได้

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                 นายกว่า  นายอุ  พรมโสภา ได้อพยพมาจากบ้านตุ่มกา ปัจจุบันได้กลายเป็นไร่ของชาวบ้านต่อมาได้มีผู้อพยพมาย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ด้วย 3 คน นายมุน  พิมพ์เสนา นายลือ  พิมพ์เสนา นายกรวย เลียงกาทิพย์ เหตุที่ตั้งชื่อบ้านว่าบ้านแก่วตาว ซึ่งมาครั้งแรกได้มีต้นตาวเป็นจำนวนมากขึ้นอยู่ตามบนภูเขาซึ่งเรียกหมู่บ้านว่า บ้านแก่วตาว

สถานที่ท่องเที่ยว

                  น้ำตกซำทอง

                  ซำ คือ น้ำซับที่ซึมจากใต้ดินไม่มีแอ่ง

                  ทอง คือ ไม้ชนิดหนึ่งมีหนามลักษณะคล้ายต้นงิ้วซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ไม้ทองหนาม เป็นไม้ยืนต้นชอบขึ้นอยู่ตามซำตามที่กล่าวมาแล้วที่เรียกว่า น้ำตกซำทอง เพราะมีน้ำไหลตามซำเล็กๆ จากเข้าหมากน้อย และภูเขาภูตาก๊อง ไหลมาตกที่พนังหินซึ่งมีความหมาย สูงประมาณ 5 เส้น น้ำตกซำทองมีน้ำไหลตลอดปี สวยงามมากเป็นที่พักผ่อนของคนในท้องถิ่น ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 5 กิโลเมตร

 

บ้านห้วยไผ่  หมู่ที่ 12

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                บ้านห้วยไผ่ ก่อตั้งขึ้น พ.ศ. 2487 บุคคลที่ก่อตั้งบ้านห้วยไผ่ ได้แก่ 1. นายขันตรี  กันยาประสิทธิ์  2. นายโละ  กันยาประสิทธิ์  3. นายแร่  สิงห์ภา  ซึ่งนายขันตรี  กันยาประสิทธิ์ ย้ายมาจากบ้านห้วยหมู่ (บ้านนา) ต่อมามีคนย้ายมาอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย เช่น มาจากบ้านสามขา 1 ครอบครัว ต่อมามีย้ายมาจากบ้านหนองหมาก่าน (ใกล้บ้านกกสะตี) 1 ครอบครัว จากบ้านนาจาน (อำเภอนครไทย) 1 ครอบครัว ต่อมามีการรวมหมู่บ้าน ห้วยไผ่ไปรวมกับบ้านวังเป่งเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ที่หมู่ 8 โดยผู้ใหญ่บ้านคือ นายสี  (บ้านวังเป่ง) แต่ชื่อหมู่บ้านได้แยกกัน มีต้นไม้ไผ่ เป็นจำนวนมาก (ก่อไผ่) ตามห้วยและบริเวณหมู่บ้านชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อตามต้นไผ่ที่มีอยู่รอบห้วย

แหล่งท่องเที่ยว

  1. ตาดเขียว ระยะทางห่างจากหมู่บ้าน 1-2 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านลักษณะของตาดเป็นชั้นเดียวข้างล่างเป็นแอ่งน้ำ โขดหินเล็กใหญ่สลับกัน สูง 10 เมตร กว้าง 13-15 เมตร
  2. ตาดง้าว ระยะทางห่างจากหมู่บ้าน 3 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ลักษณะของตาดเป็นชั้น 3 ชั้น ลักษณะเป็นโขดหิน

              ชั้นที่ 1 สูง 1-2 เมตร

               ชั้นที่ 2 สูง 1.5-2 เมตร

               ชั้นที่ 3 สูง 1.5-2 เมตร  กว้าง 10-13 เมตร

 

บ้านนา  หมู่ที่ 13

ตำบลอิปุ่ม  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ประวัติความเป็นมาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน

                การก่อตั้งหมู่บ้านนาโดยประมาณ 85 ปี มาแล้ว ในช่วงการก่อตั้งหมู่บ้าน ได้เกิดไฟไหม้หมู่บ้านตาดเสี้ยวโดยได้ไหม้ยุ้งฉางและบ้านของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องย้ายไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนาของตน ในการย้านเข้ามาอยู่ตามหัวไร่ปลายนาในช่วงนั้นย้ายมาอยู่ด้วยกัน 3 หลังคา คือ ครอบครัวพ่อแผ่  สิงห์ภา นางแป้ง  สิงห์ภา  ครอบครัวพ่อโช้นเฮาะ  กันยาประสิทธิ์  นางจัน  กันยาประสิทธิ์  และครอบครัวพ่อแก้ว  สิงห์ภา  นางจุก  สิงห์ภา  ทั้งสามครอบครัวได้สร้างบ้านเรือนอยู่ในบริเวณท้ายนาของตนเอง หลังจากนั้นมีการขยายครัวเรือน จากการที่ลูกของทั้งสามครอบครัวได้แต่งงานกันและมีการอพยพตามมาของคนในหมู่บ้านตาดเสี้ยวออกมาอยู่บริเวณใกล้เคียงกันตามหัวไร่ปลายนาของตนเพราะมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และส่วนมากจะเป็นคนจากหมู่บ้านตาดเสี้ยวเข้ามาทำมาหากินอยู่บริเวณนี้ นับจากนั้นมีการขยายครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น แต่การขยายครัวเรือนของคนที่อยู่ในบริเวณหัวไร่ปลายนาก็ยังอยู่ในการปกครองของผู้ใหญ่บ้านตาดเสี้ยว ในช่วงที่มีการขยายครัวเรือนมากขึ้น ได้มีการตั้งผู้ช่วยคือนายเจียน  แก้วทูล  ในปี พ.ศ. 2515 เข้ามาดูแลคนที่อยู่ตามหัวไร่ปลายนา คนดูแลได้ประมาณ 7 ปี ได้ขยายการปกครองตามกระทรวงมหาดไทยจึงมีการแยกหมู่บ้านออกจากหมู่บ้านตาดเสี้ยว เป็นหมู่ที่ 13 บ้านา ตั้งชื่อตามสภาพภูมิประเทศในตอนนั้นเป็นที่นา และบ้านเรือนก็ตั้งตามริมนา ตั้งเป็นหมู่บ้านในช่วงแรกมีครัวเรือนทั้งหมด 12 หลังคา ได้มีนายโจทย์  ศิริ  เป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นคนแรก

          

 

 

 

 

Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to TwitterShare with friendsPrint this page